ปี 2566 แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ผ่อนคลายความรุนแรง แต่ภาคธุรกิจของประเทศต่างๆและในประเทสไทย ยังคงได้รับผลกระทบจากการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจคือจีนและสหรัฐอเมริกา ความผันผวนของตลาดและการเงินโลก นอกจากนี้ยังเป็นปีที่มีความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกจากวิกฤตสงครามในยูเครน ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจ ต้นทุนการผลิต และค่าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากบริเวณพื้นที่ความขัดแย้งนี้อยู่ใกล้กับแหล่งพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเส้นทางการขนส่งที่สำคัญของโลก ในขณะที่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมมีความแปรปรวนค่อนข้างสูง รวมถึงการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในหลายประเทศ ผู้นำประเทศต่างๆ ต่างประกาศเจตนารมณ์สู่เป้าหมาย Net Zero

กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ท่าเรือประจวบ จํากัด ตระหนักดีว่าวิกฤตที่ท้าทายมาพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ จึงเร่งดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจการให้บริการท่าเทียบเรือน้ำลึกเอกชน ตลอดจนยึดมั่นในแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้พัฒนาการบริการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเจริญเติบโตอย่างมั่นคง สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ตลอดจนมุ่งเน้นการให้บริการอย่างครบวงจร พร้อมปรับตัวและใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้การบริการท่าเทียบเรือดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถสร้างผลกําไรให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทฯ มีสินค้าผ่านท่า (cargo throughput) ทั้งสิ้น 1,793.216 ตัน (สินค้าส่วนที่เป็นวัตถุดิบและสินค้าของกลุ่มเหล็กสหวิริยา 1,729,324 ตัน และสินค้ากลุ่มอื่นๆ 63,892 ตัน) ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 13 มีรายได้จากการให้บริการสินค้าผ่านท่า 196,813,279 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 14 มีผลกำไรสุทธิ 13,074,418 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 71 ทั้งนี้มีกิจกรรมทางธุรกิจที่สำคัญ คือท่าเรือมีการขยายตัวและเกิดรายได้จากธุรกิจขนสินค้าโดยตู้ Container โดยมีกำหนดเริ่มขนส่งในเดือนเมษายน 2567และ การพัฒนาท่าเรือให้เป็นท่าเรือปลอดฝุ่น (Green Port) ด้วยการปรับปรุงลาน Export Yard และกำหนดมาตรการการใช้ การปรับปรุงกระบวนการล้างและทำความสะอาด รวมถึงปรับปรุงไหล่ทางถนนเส้นทางหลักเข้าท่าเรือ
บริษัทยังคงมุ่งมั่นเพื่อสร้างความยั่งยืนชุมชนบางสะพานซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทดำเนินธุรกิจ โดยดำเนินกิจกรรมชุมชนที่ครอบคลุมทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทั้งการสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษา กิจกรรมอาสา และกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล อาทิ การสนับสนุนการวางซั้งกอ กิจกรรมเก็บขยะทะเล และความร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางทะเล
เพื่อให้การดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับทรัพย์สินและทรัพยากรซึ่งเป็นจุดแข็งที่มีอยู่มากยิ่งขึ้น ในปี 2567 บริษัทฯ
ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ คือ “ประตูสู่เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน เป็นแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการดูแลรักษา ระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยมีพันธกิจที่สำคัญ คือ
- ขยายธุรกิจของลูกค้ารวมถึงความได้เปรียบทางการแข่งขัน ด้วยการเข้าถึงความต่อเนื่องทางทะเล
- เชื่อมโยงและต่อยอดธุรกิจของเครือจากการพัฒนาศักยภาพขององค์ประกอบทางธุรกิจของท่าเรือ
- เสริมสร้างการใช้ประโยชน์ของพื้นที่หน้าท่าและพื้นที่หลังท่าอย่างเต็มสมรรถภาพ
- บูรณาการกิจกรรมทางสมุทรและกิจกรรมการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยคาร์บอนรวมถึงระบบนิเวศน์ที่เกี่ยวข้อง
- สร้างเสริมประสิทธิภาพในการปฎิบัติงานด้วยการพัฒนาทรัพยากรบุคคลควบคู่กับการเติมทุนทางสังคม
ความสำเร็จในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มีเป้าหมาย และทิศทางเดียวกัน
ในนามของบริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด ผมขอขอบคุณผู้ถือหุ้น คู่ค้า ลูกค้า ผู้ใช้บริการ ผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้บริหารและพนักงานทุกท่าน ที่ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานและมอบความไว้วางใจให้บริษัทฯ ด้วยดีเสมอมา บริษัทฯ ขอให้คำมั่นที่จะดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมืออันดีเช่นนี้ตลอดไป